วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

สวิทซ์กันไฟดูด ELCB เครื่องทำน้ำอุ่น ที่ทุกคนควรรู้

เกร็ดความรู้เรื่องสวิทซ์กันไฟดูด ELCB เครื่องทำน้ำอุ่น ที่ทุกคนควรรู้

ELCB ในเครื่องทำน้ำอุ่น
วันนี้ขอนำเอาเรื่องสวิทซ์กันไฟดูดมาคุยให้ท่านฟังกัน เพราะไปซุปเปอร์สโตร์แห่งหนึ่งเห็นคนไปหาซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นแล้วคนขายก็ โฆษณาว่าภายในเครื่องทำน้ำอุ่นเหล่านั้นมีสวิทซ์กันไฟดูดเรียบร้อยหายห่วง ก็เลยรู้สึกเป็นห่วงว่า คำว่าหายห่วงนั้น พูดให้ลูกค้าฟังเมื่อยามต้องการขาย พอขายเครื่องน้ำอุ่นได้แล้ว ติดตั้งเสร็จแล้ว คนขายก็คงหายห่วง แล้วห่วงก็ตกไปอยู่ที่คนซื้อ หรือ ผู้ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นนั้นแทน เพราะไม่เห็นความสำคัญของการที่ไฟฟ้าจะดูดคนใช้เครื่องทำน้ำอุ่นซึ่งอาจจะ อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่พูดเอาง่ายเข้าว่า เพื่อให้ขายได้ง่าย ขายได้จำนวนมาก ให้ทันต่อโอกาสที่นานปีทีหนจะมีอากาศหนาวเย็นเช่นปีนี้
อันคำว่า ELCB นั้นย่อมาจากคำว่า Earth Leakage Circuit Breaker ซึ่งจะหมายถึงสวิทซ์ตัดตอนชนิดพิเศษ หมายถึงคัทเอ้าท์ชนิดพิเศษ หมายถึงเบรคเกอร์ชนิดพิเศษ หมายถึงสพานไฟชนิดพิเศษ อะไรก็แล้วแต่สุดจะเรียกขานกันแบบชาวบ้านๆ เพื่อให้รู้ว่า สวิทซ์ตัดตอนพิเศษนี้จะไม่เหมือนกับ สวิทซ์ตัดตอน หรือ คัทเอ้าท์ ตัดไฟทั่วไปที่มีอยู่เพื่อใช้ควบคุมไฟของทุกบ้าน เพราะสวิทซ์ตัดตอนชนิดพิเศษนี้จะตัดไฟฟ้าที่รั่ว หรือตัดไฟฟ้าที่ชอร์ท หรือไฟดูดคน ในขนาดที่ไม่เกิน 30mA สวิทซ์ตัวนี้ก็จะทำหน้าที่ตัดไฟทันที ก่อนทีจะอันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าเกิดไฟดูดคนในเวลาที่ไม่เกิน 0.01-0.04 วินาที สวิทซ์ตัวนี้ต้องตัดไฟทันที ซึ่งต่างจากเบรคเกอร์ธรรมดาที่จะตัดไฟเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือตัดไฟเมื่อใช้กระแสเกินกำลังไฟที่มีระบุอยู่บนตัวเบรคเกอร์นั้น เช่นถ้าเกิน 10 แอมป์ 15 แอมป์ 20 แอมป์ หรือ 30 แอมป์ เบรคเกอร์ก็จะตัดไฟทันที แต่ถ้าใช้ผิดประเภทเช่น เอาเบรคเกอร์ธรรมดามาต่อกับเครื่องทำน้ำอุ่น พอเกิดไฟรั่วดูดคน เบรคเกอร์ธรรมดาก็จะไม่ตัดไฟ จนกว่าจะมีไฟกระชากอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าเทียบกับคนโดนไฟดูดก็อาจจะหมายถึงว่าในยามนั้น คนที่โดนไฟดูดไม่อยู่แล้ว ตายไปนานแล้วด้วย ที่ว่าอันตรายก็เพราะว่ารูปลักษณะภายนอกของตัวสวิทซ์กันไฟดูดแบบที่มี จำหน่ายทั่วไปนั้น รูปร่างหน้าตา คล้ายกับ เบรคเกอร์ธรรมดา มากทีเดียว สวิทซ์กันไฟดูดจะต้องเขียนชื่อว่า เป็น ELCB มีระบุว่าเป็นชนิด 30mA อาจจะมีแบบ 25mA หรือ 15mA ยิ่งน้อยยิ่งดี และที่จะต้องมีก็คือปุ่มกดทดสอบการรั่วของสวิทซ์ คือเมื่อกดปุ่มแล้วสวิทซ์ก็จะเด้งกลับอยู่ในสถานะ “ปิด” ซึ่งสวิทซ์กันไฟชอร์ทนั้จะไม่มีคุณสมบัติเช่นว่านี้
และที่พูดถึงเครื่องทำน้ำอุ่นก็เพราะว่า ช่วงฤดูหนาวอย่างนี้ เครื่องทำน้ำอุ่นขายดี ขายดีมาก ติดตั้งแทบไม่ทัน คนขายก็ขายไป ช่างติดตั้งก็ติดตั้งไป อุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นจะต้องใช้กับเครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้านั้นก็จะต้อง เข้มงวดจัดเตรียมกันให้ถูกต้องทุกขั้นตอน จะทำแบบมักง่ายอะไรก็ได้อย่างไรก็ได้นั้น ไม่ได้เด็ดขาด เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดใช้ไฟฟ้านั้น มี 2 ประเภทคือ มีประเภทแรกจะมีสวิทซ์กันไฟดูดติดตั้งอยู่ภายในตัวเครื่องทำน้ำอุ่นนั้น และ อีกประเภทหนึ่งก็คือไม่มีสวิทซ์กันไฟดูดอยู่ในตัว จะต้องติดตั้งอยู่ภายนอก ทั้งสองประเภทมีข้อดีข้อเสียต่างกันเล็กน้อยคือ ประเภทแรก ข้อดีที่มีสวิทซ์อยู่ภายใน ส่วนข้อเสียก็คือมองไม่เห็นการทำงาน หรือไม่สามารถเห็นว่าสวิทซ์กันไฟดูดตัวที่อยู่ภายในเครื่องทำน้ำอุ่นนั้น อยู่ในสถานะใด “ปิด” หรือ “เปิด” ข้อเสียอีกข้อหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าจะนำเอาสวิทซ์กันไฟดูดไปติดอยู่ภายในตัว เครื่องที่ใช้กระเดื่องพล้าสติก เหมือนแขนกล ในการเลื่อน หรือ ดันสวิทซ์กันไฟดูดนี้ให้ทำงาน และ ในทางกลับกันก็ใช้ปุ่มกดสปริงเลื่อน หรือ ดันสวิทซ์ปิดสวิทซ์กันไฟดูดเมื่อเลิกใช้งาน พบบ่อยมากที่สวิทซ์กันไฟดูดนี้ค้างอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปิด เรียกว่าหากมีไฟดูดผู้ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นนี้ ถ้าสวิทซ์ค้างก็จะกลายเป็นโศกนาฎกรรมทันที เพราะไฟจะรั่วตลอดเวลา นี่คือจุดอ่อนจุดหนึ่ง สำหรับประเภทที่สอง ที่ติดตั้งสวิทซ์กันไฟดูดอยู่ภายนอกตัวเครื่องทำน้ำอุ่นนั้น ข้อดีก็คือสามารถเห็นการทำงานของสวิทซ์ว่าอยู่ในสถานะใด ข้อเสียก็คือ หากผู้ขาย หรือ ช่างหยิบสวิทซ์กันไฟดูดผิด กลับไปหยิบเอาสวิทซ์กันไฟชอร์ทนี่ก็เป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งที่จะต้องพึงระวัง
วิธีการแก้ประเภทที่มีสวิทซ์กันไฟดูดอยู่ภายในตัวเครื่องทำน้ำอุ่นก็คือ จะต้องควบคุมการติดตั้ง และ ต่อสายไฟฟ้าเข้าเครื่องทำน้ำอุ่นด้วยผู้ควบคุมการติดตั้งที่มีความรู้ อาจจะเป็นวิศวกรไฟฟ้า หรืออาจจะเป็นช่างไฟฟ้าที่ได้รับการฝึกฝนอย่างชำนาญมาแล้ว ต่อสายไฟฟ้าสาย Live และ สาย Neutral ให้ตรงตำแหน่งที่ระบุอยู่ในตัวเครื่องทำน้ำอุ่นนั้น ดูเครื่องหมาย L sinv ให้ชัดเจน อย่าดูสีของสายไฟอาจจะสับสน และที่สำคัญที่สุด จะต้องต่อ “สายดิน” การต่อสายดินให้ได้ผลสายไฟจะต้องไม่เล็กกว่า เบอร์ 10 และจะต้องต่อไปยังแท่งกราวด์รอดซึ่งเป็นแท่งโลหะเคลือบทองแดง ที่ยาวไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ฝังลงดินที่มีความชื้นมากเช่นใกล้กับน้ำในดิน ถ้าแท่งกราวด์รอดที่ตอกลงไปแถบนั้นชื้นไม่พอก็ควรจะตอกอีกอันหนึ่งในบริเวณ ที่ชื้นเช่นว่าแล้วต่อสายมาพ่วงกับสายเส้นแรก เพื่อให้เพิ่มความแน่นอนก็การต่อสายดิน เช่นนี้ยามใดที่เกิดไฟรั่วไฟจะรั่วลงดินก่อนที่จะดูดคน ก็เพิ่มความปลอดภัยขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เรื่องต่อสายดินนี้จะต้องต่อแน่นอน ไม่ต่อไม่ได้ ไม่ว่าคนขายหรือช่างจะบอกว่าในเครื่องมีสวิทซ์กันไฟดูดอย่างดีก็อย่านิ่งนอน ใจ คนที่จะโดนไฟดูดคือคนที่ใช้เครื่องไม่ใช่คนขาย หรือ คนติดตั้ง ขอให้สังเกตุให้ดีถ้าเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อที่รับผิดชอบต่อผู้ใช้จะมี เขียนตัวอักษรสีแดง อ่านชัดถ้อยชัดคำว่า “อันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าไม่ติดตั้งสายดิน” นี่คือคำเตือนสำหรับผู้ที่จะอยู่อย่างปลอดภัยก็ด้วยความไม่ประมาท
ผู้เขียนเคยไปพักโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ ก่อนอาบน้ำก็สำรวจพบว่าเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นแบบราคาถูก ชนิดที่ไม่มีสวิทซ์กันไฟดูดอยู่ภายใน เมื่อตรวจไปดูสวิทซ์ที่แทนที่จะเป็นสวิทซ์กันไฟดูดกลับกลายเป็นสวิทซ์กันไฟ ชอร์ทมาใส่แทน สำรวจต่อไปอีกก็พบว่าไม่มีการต่อสายดินเลย จึงไม่กล้าใช้เครื่องทำน้ำอุ่นนั้น ยอมไม่อาบน้ำดีกว่าตายไม่ทันสั่งเสีย ถามว่าหากเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมา เจ้าของสถานที่ก็คงจะรับผิดชอบไม่ไหว จึงอยากจะขอให้ทุกท่านจงรอบคอบ ซื้อของใช้ไฟฟ้าอย่ามุ่งเน้นแต่ราคาถูกอย่างเดียว ความปลอดภัยจะต้องมาก่อนเสมอ จะซื้อทั้งทีก็ซื้อของที่ไว้ใจได้ ซื้อร้านที่ไว้ใจได้ ราคาตามงบที่เรามีอยู่ ช่างต้องเก่งและซื่อสัตย์ รูปประกอบบทความในวันนี้คือ ELCB ยี่ห้อ Kyokuto รุ่น KD-LS2123 เป็นรูปเฉพาะส่วนหน้าของตัวเป็นป้ายระบุยี่ห้อคุณสมบัติ คันโยกเปิดปิดก็มีสัญญลักษณ์ ว่า On-Off ด้านขวาก็จะระบุว่าเป็นชนิดที่ใช้กับไฟเฟสเดียว 2 สาย ความไวในการตัดวงจรเมื่อเกิดไฟรั่ว หรือ ไฟดูดก็คือ ไม่เกิน 15mA และ ตัวนี้เป็นเบรคเกอร์ด้วย รองรับการใช้งานได้ไม่เกิน 30 แอมป์ และ มีปุ่มกดทดสอบความปกติของตัวสวิทซ์กันไฟดูดนี้คือปุ่มที่เขียนว่า Test ถ้าสวิทซ์กันไฟดูดตัวนี้ปกติ เมื่อกดปุ่มนี้แล้วคันโยกปิดเปิดก็จะเด้งตกลงมาอยู่ในสถานะ “ปิด Off” แสดงว่าปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง หน้ากระดาษหมดพอดี พบกันใหม่ สวัสดีครับ จาก มิสเตอร์ วินโดว์

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณข้อมูลดีๆ มีคุณค่ามากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณข้อมูลดีๆครับ

    ตอบลบ
  3. สอบถามครับ ถ้ากดปุ่ม TEST แล้ว ปรากฏว่ามีควันพรวยพุ่งออกมาพร้อมกับกลิ่นเหม็นไหม้ แบบนี้หมายถึงว่า วงจรอิเลคทรอนิคส์ป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด เสียหายแล้วใช่ไหมครับ ? และ ELCB ยังสามารถใช้งานได้ต่อหรือไม่ ?

    ตอบลบ

มาอัฟเกรด เครื่องถอดรหัสเสียง Cambridge DacMagic 100 upgrades

โมดิไฟล์ Cambridge DacMagic 100   โดยการเปลี่ยนตัวเก็บประจุ เป็นชนิด capacitor audio grade   เปลี่ย capacitor ตำแหน่ง output ค่า 100uf 25v จ...